วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ระบบ ERM เวอร์ชั่น 3.2.2 (2011-12-03)

เวอร์ชั่นนี้ได้ปรับปรุงโครงสร้างของ user ให้ใช้งานได้หลายระดับมากขึ้นโดยไม่จำกัด เพื่อตอบรับความต้องการองค์กรที่มีโครงสร้างแตกต่างกัน  และสามารถกำหนดการปิดการทำงานของระบบชั่วคราว เพื่อเป็นการทบกวนข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมุลของแต่ละหน่วยงาน หรือ หัวหน้างานสามารถจัดการกับข้อมูลที่บันทึกได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ระบบ ERM เวอร์ชั่นปัจจุบัน Version 3.2-a3 (2011-08-28)

ในเวอร์ชั่นนี้ ทางเราได้มีการเพิ่มเติมในส่วนของการบันทึกข้อมูลในขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง เพื่อให้รองรับการกำหนดเป้าประสงค์ในการจัดการความเสี่ยง  ให้ผู้ใช้งานสามารถกำหนดเป้าหมายได้ว่า คาดหวังให้ความเสี่ยงมีโอกาส และผลกระทบ ลดลงอย่างไรหลังจากที่ได้ดำเนินการทำแผน และจัดการความเสี่ยงนั้นๆ แล้วจะได้นำเป้าประสงค์ที่ได้ระบุไว้ มาประกอบในการติดตามและประเมินผลต่อไป

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมฟังก์ชั่นในการจัดการทบทวนข้อมูลก่อนการออกรายงาน ให้สามารถกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงและแก้ไขข้อมูล ที่จำกัดเฉพาะผู้ทำหน้าที่ทบทวนเท่านั้น  และได้เพิ่มเติมรายละเอียดในส่วนของการตรวจสอบการเข้าระบบและการใช้งาน

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

ความสำคัญของกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง

การบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร (Enterprise Risk Management) เป็นกระบวนการสำคัญที่เข้ามามีบทบาทภายในองค์กร  เพื่อให้ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงและลดการเกิดโอกาสของความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ และการกระทำที่จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อองค์กรเนื่องจากความไม่แน่นอนนั้น จัดเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะส่งผลในทางบวกหรือทางลบให้กับองค์กร  ดังนั้นองค์กรจึงนำกระบวนการบริหารความเสี่ยงเข้ามาใช้ในการประเมินและจัดการกับความเสี่ยงภายในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้  รวมทั้งเป็นองค์ประกอบในการกำกับดูแลองค์กรให้บรรลุความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด
ความสำคัญของกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง คือ กลยุทธ์ต้องมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การดำเนินงานขององค์กร ซึ่งจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ การวางแผนการบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ในอนาคตอย่างบูรณาการ และ การนำการบริหารความเสี่ยงไปสู่การปฏิบัติ

ประเภทความเสี่ยง

การจำแนกประเภทความเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง สามารถแบ่งความเสี่ยงออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1)    ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk : S) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในระดับยุทธศาสตร์ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สถานการณ์โลก ภาวะผู้นำ กลไกตลาด เป็นต้น

2)    ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน (Operational Risk : O) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในระดับการปฏิบัติงาน เช่น ระบบงานขององค์กร กระบวนการทำงาน เทคโนโลยี บุคลากร ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น

3)    ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk : F) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการเงิน เช่น อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา อัตราดอกเบี้ย งบประมาณ สภาพคล่อง ความสามารถในการชำระหนี้ ความน่าเชื่อถือทางการเงิน เป็นต้น

4)    ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย (Compliance Risk : C) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย เช่น ระเบียบ กฎหมาย พระราชกฤษฎีกา ระเบียบข้อบังคับ ข้อกำหนดของทางการ นโยบายของรัฐ เป็นต้น

5)    ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (Hazardous Risk : H) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านความปลอดภัย เช่น ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยภายในองค์กร อาคาร หรือสถานที่ ที่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด