วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

ความสำคัญของกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง

การบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร (Enterprise Risk Management) เป็นกระบวนการสำคัญที่เข้ามามีบทบาทภายในองค์กร  เพื่อให้ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงและลดการเกิดโอกาสของความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ และการกระทำที่จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อองค์กรเนื่องจากความไม่แน่นอนนั้น จัดเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะส่งผลในทางบวกหรือทางลบให้กับองค์กร  ดังนั้นองค์กรจึงนำกระบวนการบริหารความเสี่ยงเข้ามาใช้ในการประเมินและจัดการกับความเสี่ยงภายในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้  รวมทั้งเป็นองค์ประกอบในการกำกับดูแลองค์กรให้บรรลุความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด
ความสำคัญของกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง คือ กลยุทธ์ต้องมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การดำเนินงานขององค์กร ซึ่งจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ การวางแผนการบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ในอนาคตอย่างบูรณาการ และ การนำการบริหารความเสี่ยงไปสู่การปฏิบัติ

ประเภทความเสี่ยง

การจำแนกประเภทความเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง สามารถแบ่งความเสี่ยงออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
1)    ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk : S) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในระดับยุทธศาสตร์ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สถานการณ์โลก ภาวะผู้นำ กลไกตลาด เป็นต้น

2)    ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงาน (Operational Risk : O) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในระดับการปฏิบัติงาน เช่น ระบบงานขององค์กร กระบวนการทำงาน เทคโนโลยี บุคลากร ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น

3)    ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk : F) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการเงิน เช่น อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา อัตราดอกเบี้ย งบประมาณ สภาพคล่อง ความสามารถในการชำระหนี้ ความน่าเชื่อถือทางการเงิน เป็นต้น

4)    ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย (Compliance Risk : C) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย เช่น ระเบียบ กฎหมาย พระราชกฤษฎีกา ระเบียบข้อบังคับ ข้อกำหนดของทางการ นโยบายของรัฐ เป็นต้น

5)    ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (Hazardous Risk : H) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านความปลอดภัย เช่น ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยภายในองค์กร อาคาร หรือสถานที่ ที่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานกำหนด